วันพุธที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ความยุติธรรมในสังคม


          “เราถือว่าปฏิบัติการเพื่อความยุติธรรมและการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงโลกเป็นมิติหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบของการประกาศพระวรสาร” (ยล 6)



1.  ความเข้าใจเรื่องความยุติธรรม
1.1  ความคิดหลักเรื่องความยุติธรรม มีพื้นฐานมากจากหลักเหตุผลและหลักธรรมชาติ ซึ่งหยั่งรากลึกในธรรมชาติของมนุษย์ กล่าวคือ
1.1.1  มนุษย์ในฐานะที่เป็นบุคคลจะอยู่โดดเดี่ยวตามลำพังคนเดียวไม่ได้ “Man is not an island”
1.1.2  มนุษย์ต้องมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและสิ่งที่มีชีวิตอื่น คือ กับพระเจ้า / สิ่งสูงสุด กับเพื่อนมนุษย์ และกับธรรมชาติ
1.1.3  ในการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นหรือสิ่งที่มีชีวิตอื่น เรียกร้องความยุติธรรมที่มิใช่แต่เพียงเราทำกับผู้อื่นหรือเพื่อผู้อื่น แต่เป็นความยุติธรรมที่เราต้องทำกับตนเองด้วย ความยุติธรรมจึงเป็นคุณธรรมที่สำคัญของการเจริญชีวิตจิต ในการมีความสัมพันธ์กับผู้อื่น
ความยุติธรรมในมุมมองนี้ คือ การมีสัมพันธภาพอย่างมีดุลยภาพที่ถูกต้อง สร้างสรรค์ และมีเสรีภาพ ในระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับพระเจ้า / สิ่งสูงสุด

1.2  ประเภทความยุติธรรมในสังคม
ภาพจาก www.webzoom.freewebs.comความยุติธรรมในสังคม ในมิติความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และในระดับสังคมประเทศชาติ แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ
1.2.1  ความยุติธรรมในการแลกเปลี่ยน (Commutative Justice /      Reciprocal Justice) เป็นความยุติธรรมที่อยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หรือกลุ่ม ที่มีข้อตกลงระหว่างกัน บนความถูกต้องและเท่าเทียมกัน
1.2.2  ความยุติธรรมในการแบ่งปัน (Distributive Justice) เป็นความยุติธรรมที่อยู่ในความสัมพันธ์ของสังคมใหญ่ ที่มีส่วนช่วยเหลือและแบ่งปันทรัพย์สิน ความมั่งคั่ง วิทยาการต่างๆ แก่ภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม โดยมีหลักคิดว่าทุกคน      ต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และมีโอกาสเข้าถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของสังคม อย่างเท่าเทียมกัน ความยุติธรรมในการแบ่งปันนี้ มีพื้นฐานความคิดมาจากเรื่องความดีของส่วนรวมหรือคุณประโยชน์ของส่วนรวม (Common Good) ซึ่งถ้าผนวกกับคำสอนของพระเยซูเจ้าในพระวรสารนักบุญมัทธิว 5:40-42 ความยุติธรรมในการแบ่งปันนี้มีความหมายที่ลึกซึ้งกว่า นั่นคือ การแบ่งปันตาม  ความจำเป็นของผู้รับ กล่าวคือ ผู้ที่มีความจำเป็นมากกว่าต้องได้รับส่วนแบ่งมากกว่า และที่สำคัญที่สุดคือ เป็นความรับผิดชอบของผู้ที่มีมากกว่าต่อผู้ที่มีน้อยกว่า ความยุติธรรมในลักษณะนี้เป็นบ่อเกิดแห่งความยุติธรรมในสังคม
1.2.3  ความยุติธรรมในทางกฎหมาย (Legal Justice) เป็นความยุติธรรมที่อยู่ในการดำรงความสัมพันธ์ที่ถูกต้องของบุคคล ระหว่างบุคคล กลุ่มบุคคลต่างๆ ในทุกภาคส่วนของสังคม และในสังคมใหญ่ความยุติธรรมในสังคมต้องมีองค์ประกอบของความยุติธรรมทั้ง 3 ประการนี้ จึงสรุปได้ว่า ความยุติธรรมในสังคมคือ การที่มนุษย์ยอมรับกัน เคารพและปฏิบัติต่อกันและกัน เพื่อนำมาซึ่งความยุติธรรมในการแบ่งปัน การช่วยเหลือกัน อันจะทำให้มนุษย์ดำรงชีวิตอย่างสมบูรณ์ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม  

2.  พื้นฐานแนวคิดความยุติธรรมในสังคม
ความยุติธรรมในสังคมมีรากฐานมาจากการไขแสดงของพระเจ้าในคริสตศาสนา โดยทางพระคัมภีร์ และจากคำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร
2.1  พระธรรมเดิม
Image2.1.1  งานสร้างมนุษย์ “ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายาตามอย่างของเรา ให้ครอบครองฝูงปลาในทะเล ฝูงนกในอากาศและฝูงสัตว์ ให้ปกครองแผ่นดินทั่วไป และสัตว์ต่างๆ ที่เลื้อยคลานบนแผ่นดิน พระจึงทรงสร้างมนุษย์ขึ้นตามฉายาของพระองค์ ตามพระฉายาของพระเจ้านั้น พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้น และได้ทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง” (ปฐก 1:26-27)

ก.  มนุษย์มีเกียรติและมีศักดิ์ศรี:
“ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายา ตามอย่างของเรา” เพราะมนุษย์....
  • มีจิตวิญญาณ มีความเป็นอมตะ-ความไม่มีขอบเขต
  • มีสติปัญญา มีความคิดสร้างสรรค์
  • มีอิสระภาพ อำเภอใจ น้ำใจ ความรัก
  • รู้จักใช้เหตุผล มีวิจารณญาณ มีมโนธรรมสำนึก ความรับผิดชอบ
  • มีขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม ภาษา และความเชื่อ
เอกลักษณ์และคุณลักษณะเด่นๆ เหล่านี้ เป็นการแบ่งปันชีวิตของพระเจ้าให้แก่มนุษย์ทำให้แตกต่างจากสรรพสิ่ง สรรพสัตว์ และทำให้มีเกียรติและมีศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน เป็นสิ่งสร้างที่ประเสริฐที่สุดในบรรดาสิ่งสร้างทั้งหลาย มนุษย์จึงต้องเคารพศักดิ์ศรียกย่องและให้เกียรติแก่กันและกัน

ข.  พระเจ้าทรงมอบหมายหน้าที่ให้แก่มนุษย์ พระองค์ทรงให้เกียรติแก่มนุษย์ในการครอบครองและปกครอง.... “ให้ครอบครอง.... และปกครอง...”
  • มนุษย์ต้องทำงาน – หน้าที่การงานจึงนำมาซึ่งเกียรติและทำให้ชีวิตมนุษย์มีคุณค่า ทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ในหน้าที่การงานที่มนุษย์ทำนี้ยังหมายถึงการสานต่องานสร้างของพระเจ้า
  • พระเจ้าประทานทรัพยากรให้แก่มนุษย์ทุกคน ทุกคนมีสิทธิในการครอบครองและปกครอง จึงต้องมีการแบ่งปันทรัพยากรแก่กันและกัน พร้อมกับเคารพสิทธิของกันและกัน
  • การครอบครองและการปกครองสิ่งสร้างนั้น มิใช่ลักษณะของการเอาเปรียบธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสุรุ่ยสุร่าย – ไม่บันยะบันยัง – ไม่เคารพธรรมชาติ แต่มนุษย์ต้องมีท่าทีของการเคารพธรรมชาติและบำรุงรักษาธรรมชาติ เพื่อการดำรงชีวิตอยู่อย่างเกื้อกูลกันและกัน และส่งเสริมกันและกัน

ค.  ความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ – ในเกียรติและศักดิ์ศรีของชายและหญิง “ทรงสร้างให้เป็นชาย และเป็นหญิง
  • ไม่ใช่ชายใหญ่ (สูง) กว่าหญิง หรือหญิงใหญ่ (สูง) กว่าชาย
  • ความเป็นชายและความเป็นหญิง เป็นคุณค่าที่เสริมสร้าง – เกื้อกูลกันและกันในการดำรงชีวิต และเติมชีวิตให้สมบูรณ์
  • มนุษย์ทุกคนเป็นบุตรของพระเจ้า เป็นพี่น้องร่วมในองค์พระบิดาเดียวกัน
ความยุติธรรมมีรากฐานมาจากการเคารพในเกียรติและศักดิ์ศรีของบุคคล มาจากการเคารพและตระหนักว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับในสิ่งที่เขาต้องการหรือมีความจำเป็นในการดำรงชีวิต และมาจากการเคารพว่าทุกคนมีเอกสิทธิ์ในการตัดสินใจด้วยตนเองที่จะดำเนินชีวิต
2.1.2  พระเจ้าเปิดเผยตัวพระองค์เป็นผู้ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่เมื่อมีการกระทำที่อยุติธรรม
พระเจ้าตรัสว่า “เราเห็นความทุกข์ของประชากรของเราที่อยู่ในประเทศอียิปต์แล้ว เราได้ยินเสียงร้องของเขา เพราะการกดขี่ของพวกนายงาน เรารู้ถึงความทุกข์ร้อนต่างๆ ของเขา เราลงมาเพื่อจะช่วยเขาให้รอดจากมือชาวอียิปต์ และนำเขาออกจากประเทศนั้น ไปยังแผ่นดินที่อุดมกว้างขวาง เป็นแผ่นดินที่มีน้ำนม และน้ำผึ้งไหลบริบูรณ์...........” (อพย 3:7-10)
2.1.3   พระคัมภีร์ได้อธิบายความยุติธรรมว่าเป็นธรรมชาติของพระเจ้า
  • “เพราะพระเจ้า เป็นพระเจ้าแห่งความยุติธรรม” (อสย 30:18)
  • “เพราะทรงให้ความยุติธรรมและความเที่ยงตรงแก่ข้าพระองค์” (สดด 9:4)
ความยุติธรรมมิใช่เป็นเรื่องของนามธรรม ประชากรชาวอิสราเอลมีประสบการณ์กับธรรมชาติและกิจการการปลดปล่อยของพระเจ้า จำต้องสนองตอบด้วยการมีความเชื่อและปฏิบัติความยุติธรรมต่อเพื่อนบ้านด้วย เช่น ฉลบ 24:14-15, สดด 106:3และ อสย 58:6-10

2.2  พระธรรมใหม่
ภาพจาก www.europa.eu2.2.1  พันธกิจการไถ่กู้ของพระเยซูเจ้า “พระจิตของพระเจ้าทรงอยู่เหนือข้าพเจ้า เพราะพระองค์ทรงเจิมข้าพเจ้าไว้ ให้ประกาศข่าวดีแก่คนยากจน ทรงส่งข้าพเจ้าไปประกาศการปลดปล่อยแก่ผู้ถูกจองจำ คืนสายตาให้แก่คนตาบอด ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่ให้เป็นอิสระ ประกาศปีแห่งความโปรดปรานจากพระเจ้า”(ลก4:18-19)
2.2.2  พระเยซูเจ้าทรงรวมมนุษย์ให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้าและกับเพื่อนมนุษย์ ด้วยชีวิตและงานประกาศข่าวดี ทรงถวายตัวพระองค์ทั้งครบแด่พระบิดาเจ้าเพื่อการปลดปล่อยมนุษย์ และดำเนินชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุด “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทำสิ่งใดต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40) และทรงสอนให้มนุษย์มีความยุติธรรมต่อสังคมการเมือง “ของของซีซาร์ จงคืนให้ซีซาร์ และของของพระเจ้า ก็จงคืนให้พระเจ้าเถิด” (มธ 22:21)
2.2.3  พระเยซูเจ้าทรงประกาศบทบาทของพระเจ้าในวิถีชีวิตของมนุษย์ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมสำหรับผู้ขัดสนและผู้ถูกกดขี่ ในธรรมเทศนาบทแรกของพระองค์ (ลก 6:21-23)
2.2.4  นักบุญเปาโล สอนให้คริสตชนเจริญชีวิตในความเชื่อที่แสดงออกมาด้วยการปฏิบัติตนต่อผู้อื่นด้วยหัวใจที่รักรับใช้ ซึ่งหมายถึงการยอมรับในศักดิ์ศรีและสิทธิของผู้อื่น ยิ่งคริสตชนแสดงความรักและการรับใช้ผู้อื่นมากเท่าใด ก็จะค้นพบอิสรภาพและความปิติสุขภายในใจมากขึ้นเท่านั้น พร้อมทั้งสามารถช่วยเหลือผู้อื่นให้พบกับอิสรภาพและการหลุดพ้นจากความทุกขเวทนาต่างๆ มากขึ้นด้วย การเจริญชีวิตคริสตชนด้วยความรักและการรับใช้นี้ จะทำให้ความยุติธรรมสมบูรณ์ (ยล34)

2.3   คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร
2.3.1  พระธรรมนูญว่าด้วยพระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ (Gaudium et Spes 1965)
ก. พระศาสนจักรต้องเอาใจใส่ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม และเป็นหนึ่งเดียวกันกับครอบครัวมนุษย์ “ความชื่นชมและความหวัง ความโศกเศร้า และความกังวลของมนุษย์ ในสมัยนี้ เป็นต้นของคนยากจน และผู้มีความทุกข์เข็ญทั่วไป ย่อมถือว่าเป็นความชื่นชมและความหวัง เป็นความโศกเศร้าและความกังวลของผู้เป็นศิษย์ของพระคริสตเจ้าด้วย” (ศลน 1)
Imageข. เป็นสิทธิและความรับผิดชอบของศิษย์ที่ติดตามพระคริสต์ จำต้องทำงานปกป้องศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคลอย่างเข้มแข็ง (ศลน 3) และใช้พรสวรรค์อันเป็นของประทาน เพื่อรับใช้ซึ่งกันและกัน (ศลน 7) ทั้งนี้ ไม่ใช่ปัจเจกบุคคลเท่านั้น ที่ได้รับความรอด แต่ทุกคนได้รับความรอดในองค์พระคริสต์ “ขอให้แต่ละคนถือว่าเพื่อนมนุษย์ โดยไม่ยกเว้นแต่คนเดียวเป็นตัวของตนอีกคนหนึ่ง” ก่อนอื่นให้คำนึงถึงชีวิตของเขาและปัจจัยที่เขาจำเป็นต้องมีเพื่อดำรงชีวิตอย่างสมควร เราต้องทำตัวของเราเป็นเพื่อนมนุษย์ของคนทุกคน ต้องรับใช้เขาอย่างแข็งขัน ไม่ว่าเป็นคนชรา ที่ใครๆ ทอดทิ้ง กรรมกรต่างชาติที่ถูก ดูหมิ่น.... คนถูกเนรเทศ.... เด็กที่เกิดจากพ่อแม่ไม่ได้สมรสกันตามกฎหมาย... ไม่ว่าจะเป็นคนหิวโหย... ขอให้เราระลึกถึงพระวาจาของพระคริสตเจ้าที่ว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ท่านทำสิ่งใด ต่อพี่น้องผู้ต่ำต้อยที่สุดของเราคนหนึ่ง ท่านก็ทำสิ่งนั้นต่อเรา” (มธ 25:40)  (ศลน 27)
2.3.2  เอกสารความยุติธรรมในโลก (Justice in the World 1971) สมัชชาพระสังฆราช ถือเป็นหน้าที่ของพระศาสนจักรในการส่งเสริมความยุติธรรม โดยยืนยันว่า การปฏิบัติความยุติธรรมและการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงโลกเป็นมิติหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบของการประกาศพระวรสาร (ยล 6) กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ภารกิจการช่วยให้รอดของพระศาสนจักร มิได้จำกัดแต่การช่วยด้านชีวิตฝ่ายวิญญาณ แต่ต้องเข้าไปมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์ฝ่ายโลก กล่าวคือ ด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจด้วย
2.3.3  สมณสาสน์การเฉลิมฉลองปีที่หนึ่งร้อย (Centesimus Annus 1991) พระศาสนจักรยืนยันว่า ในการส่งเสริมความยุติธรรมจำต้องอาศัยความรัก “เป็นความรักที่มีต่อผู้อื่น เฉพาะอย่างยิ่งเป็นความรักต่อคนจน ซึ่งพระศาสนจักรมองเห็นพระคริสตเจ้าในบุคคลเหล่านั้น” (ฉปร 58)
2.3.4  สารวันสันติสากลประจำปี (Message on Day of Peace) สันติภาพเกิดจากการถือความยุติธรรม “ไม่มีสันติภาพ หากไม่มีความยุติธรรม และจะไม่มีความยุติธรรม หากไม่มีการให้อภัย... สันติภาพที่แท้จริงคือ ผลพวงของความยุติธรรมโดยมีคุณธรรม ศีลธรรมและหลักประกันทางกฎหมาย เป็นสิ่งช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะมีการเคารพสิทธิและความรับผิดชอบอย่างครบถ้วน และจะมีการกระจายผลประโยชน์และภาระต่างๆ อย่างเป็นธรรม... ความยุติธรรมที่สมบูรณ์จึงต้องประกอบด้วยการให้อภัย ซึ่งจะช่วยสมานแผลให้หายสนิท และฟื้นฟูความสัมพันธ์อันร้าวฉานของมนุษย์ให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างจริงจัง” (สส 2002 ข้อ 15, คำสอนด้านสังคมฯ ภาคอ้างอิง หน้า 190)

3. งานของพระศาสนจักรที่ส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม
Imageในบทสอนของนักบุญเปาโล เกี่ยวกับความรักและความยุติธรรม เป็นคุณธรรม 2 ประการ ที่แยกออกจากกันไม่ได้ในพันธกิจส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม ความรักและความยุติธรรมสะท้อนความสัมพันธ์ของศาสตร์ความรักและความเมตตา กับจริยธรรมทางสังคมของคริสตชน ซึ่งปรากฏเด่นชัดในพันธกิจของพระศาสนจักร 2 ประการคือ
3.1 งานสังคมสงเคราะห์ (Social Service / love / charity) งานในลักษณะนี้ ตอบสนองต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นงานที่อยู่ในมิติของความสนใจ ความห่วงใจ ความสงสาร มีเมตตาธรรม และแสดงออกโดยการช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน คนยากจน ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ด้อยโอกาส เช่น การให้อาหารแก่ผู้ที่หิวโหย การบริจาคเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ หรือการไปเยี่ยมเยียนผู้ต้องขัง การดูแลเด็กกำพร้า ผู้เจ็บป่วยและคนชรา เป็นต้น
3.2  งานพัฒนาสังคม (Social Action / justice) งานในลักษณะนี้ เป็นการศึกษาเชิงปฏิบัติการ เพื่อแก้ไขต้นเหตุของปัญหา เป็นพันธกิจที่ช่วยกันแก้ไขโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม เน้นหนักไปที่การค้นพบต้นเหตุของความทุกข์ยาก ที่เกิดขึ้นกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกว่าความอยุติธรรมในสังคม และนำไปสู่การแสวงหาแนวทางเพื่อการเยียวยา การแก้ไขต้นเหตุและปัจจัย ที่สร้างความอยุติธรรมนั้นๆ พร้อมกับวางแผนงานพัฒนาชุมชนอย่างเป็นกระบวนการและต่อเนื่อง โดยเน้นการพึ่งตนเองและการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นสำคัญ
อันที่จริงแล้ว งานสังคมสงเคราะห์ งานพัฒนาสังคม และงานส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม เป็นงานสามประสานที่เกื้อกูลและเสริมสร้างกันและกัน โดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันที่ต้องการปลดปล่อยให้ตัวบุคคลหรือกลุ่มชนให้เป็นอิสระจากความทุกข์เข็ญในด้านต่างๆ ดังนั้นในขณะที่เราทำงานสังคมสงเคราะห์ เราก็เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาจำเป็นพื้นฐาน ตัวอย่างเช่น เมื่อคนๆ หนึ่งเดินเข้ามาในบ้านของเรา และขออาหาร เพราะเขาตกงาน และเราให้อาหารเขาต่อมาก็หางานให้เขาทำ (เพราะเขาตกงาน) นั่นก็เท่ากับว่า เราทำงานสงเคราะห์และงานส่งเสริมความยุติธรรมในเวลาเดียวกัน
งานส่งเสริมความยุติธรรมเป็นเครื่องมือที่ช่วยคนจน ผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ถูกกระทำให้เข้าใจว่า สังคมมีโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมอย่างไร โครงสร้างนั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างไร และจะร่วมมือกันพัฒนาชุมชนหรือสังคมให้เกิดความยุติธรรมด้วยจิตตารมณ์ของความรักและการรับใช้ ทั้งในเชิงโครงสร้างและการอยู่ร่วมกันได้อย่างไร นอกจากนี้ ความยุติรรมยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยคนจนให้มีประสบการณ์ตรงกับพระเจ้า ว่าพระองค์ทรงดำรงอยู่เคียงข้างผู้ต่ำต้อยเสมอ

4.  การศึกษามีความสำคัญต่อการส่งเสริมความยุติธรรมในสังคมได้อย่างไร
4.1  ความยุติธรรมแบบปัจเจก
Imageปัญหาทุกวันนี้ คนไม่เชื่อว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ที่เราต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มา เพราะสังคมปัจจุบันให้ความสำคัญมากต่อการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัว หรือสิ่งที่ตนเองพึงได้รับ มากกว่าความเห็นอกเห็นใจและการช่วยเหลือเกื้อกูล ความยุติธรรมในสังคมปัจจุบัน เป็นผลสะท้อนสังคมแบบปัจเจกนิยม เป็นความยุติธรรมแบบอัตตา เช่น จะยุติธรรมก็ต่อเมื่อฉันเป็นฝ่ายได้ก่อนคนอื่น ได้มากกว่าคนอื่น หรือจะยุติธรรม ก็ต่อเมื่อฉันเสียน้อยกว่าคนอื่น ซึ่งพอสรุปได้ว่า ความเข้าใจเรื่องความยุติธรรมแบบปัจเจกนี้ เป็นผลมาจากการศึกษา และระบบการเรียนการสอนที่ปลูกฝังเรื่องการแข่งขัน กล่าวคือ ต้องได้ดีกว่าคนอื่น ต้องเก่งกว่าคนอื่น ต้องมีความสามารถกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นการหล่อหลอมวิธีคิด และการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตนเองก่อน คนอื่นทีหลัง

4.2  สถานศึกษา / โรงเรียน เป็นกลไกของสังคมที่มีหน้าที่สำคัญ คือ
4.2.1  เป็นสถาบันที่หล่อหลอมความคิด และประสบการณ์ชีวิตเข้าด้วยกัน กลายเป็นองค์ความรู้ที่สั่งสมมาตามวุฒิภาวะ อันจะเป็นพื้นฐานของการสร้างอุดมการณ์และบุคลิกภาพในชีวิต
4.2.2  ปลูกฝังคุณธรรม สร้างมโนธรรม อบรมบ่มนิสัยและขัดเกลาชีวิตของผู้เรียนให้เป็นคนดี มีจริยธรรม มีความสุข มีความสำนึกดีต่อผู้อื่น ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสังคม ยืนหยัดอยู่บนความถูกต้องและเคารพในศักดิ์ศรี และความต่างของกันและกัน
4.2.3  สร้างบรรยากาศแห่งการอยู่ร่วมกันฉันพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน มีความอบอุ่น มีความรัก ความเอื้ออาทร เห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือผู้อื่น และร่วมกันพัฒนาศักยภาพและบุคลิกภาพของผู้เรียนและบุคลากรในสถานศึกษา
4.2.4  สถานศึกษา / โรงเรียนคาทอลิก จึงเป็นกระบวนการหล่อหลอมชีวิตมุ่งสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นพันธกิจสำคัญในการร่วมงานกับพระเจ้า พระผู้สร้างในงานเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนตามวัยและวุฒิภาวะ

4.3  การให้การศึกษาเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมในสังคมของสถานศึกษา
4.3.1  การให้การศึกษาเรื่องความยุติธรรม เป็นการให้ความสำคัญต่อศักดิ์ศรีและคุณค่าของชีวิตมนุษย์ รวมถึงสิทธิของความเป็นมนุษย์ (สิทธิมนุษยชนศึกษา) ทั้งของตนเองและของผู้อื่น มีสิทธิเท่าเทียมกัน มีความเสมอภาคและอยู่ร่วมกันด้วยความเคารพ มีเมตตาธรรมและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อันจะนำมาซึ่งความผาสุก ทั้งในชีวิตส่วนตัว ส่วนร่วมและสังคมวงกว้าง
4.3.2  การศึกษาเรื่องความยุติธรรมในสังคม ควรมุ่งกระตุ้นให้ผู้เรียนมีชีวิตชีวา รู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และประมวลสรุปเป็นแนวทางหรือหลักปฏิบัติเพื่อกระทำกิจกรรมสรรค์สร้างชีวิตที่ดีงามอย่างมีพลังต่อไป ในช่วงวัยแห่งการศึกษานี้ ผู้เรียนควรผ่านประสบการณ์แห่งการตอบสนองต่อสถานการณ์ทางสังคม รู้จักวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ มีความเข้าใจถึงวิกฤตด้านศีลธรรมและชีวิตจิต และมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมตามวุฒิภาวะและในสถานการณ์ที่เหมาะสม กล่าวโดยสรุป การศึกษาเพื่อความยุติธรรมในสังคม คือ การศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้ดีขึ้น
Brien Wren นักการศึกษา ได้กล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมในสังคมว่า มีคำกล่าวในอดีตดังนี้ “(ฉัน) ได้ยิน แล้วก็ลืม (ฉัน) เห็น แล้วก็จำ แต่หากฉันทำ ฉันก็เข้าใจ” การศึกษาที่นำความหวังมาสู่ชีวิตใหม่ คือ เราต้องเรียนรู้ความยุติธรรมจาก การกระทำ และปฏิบัติควบคู่ไปกับการไตร่ตรอง (Education for Justice, London:SCM Press 1977,P.11)

4.4  ข้อท้าทายต่อสถาบันการศึกษาคาทอลิก
4.4.1  สถาบันการศึกษาคาทอลิก ต้องเป็นสนามชีวิตที่ให้การศึกษาเพื่อความยุติธรรมให้เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เป็นโอกาสให้ผู้เรียนได้สร้างความตระหนักและเข้าใจสาเหตุที่สลับซับซ้อนแห่งความทุกข์ยากของมนุษย์ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและเกราะป้องกันสำหรับผู้เรียนทุกคน ให้หลุดพ้นจากอคติ จากความคิดที่เลือกข้าง มองคนอื่นเป็นเขา มิใช่เรา อันเป็นผลมาจากความเป็นเลิศทางวิชาการ การแข่งขัน การชิงความได้เปรียบ และมองข้ามความสำคัญของผู้อื่นที่มีโอกาสน้อยกว่า ซึ่งเป็นผลพวงมาจากค่านิยมของทุนเสรีนิยมใหม่ในสังคมยุคปัจจุบัน
4.4.2  สถาบันการศึกษาคาทอลิกเป็นสถานที่บ่มเพาะ ปลูกฝังมโนธรรมสำนึกทางสังคม และส่งเสริมการปฏิบัติความเมตตารักต่อผู้อื่น ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติความยุติธรรมในสังคม เป็นสนามงานที่ฝึกปฏิบัติคุณธรรม จริยธรรมและการอยู่ร่วมกันฉันพี่น้องดุจครอบครัวใหญ่เดียวกัน โดยยึดจิตตารมณ์ของความรักและการรับใช้ และคุณประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง
ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ เราจะมีผู้ปกครองที่รับผิดชอบต่ออนาคตของบุตรหลานอย่างมีสำนึก รู้เท่าทันและให้ความอบอุ่นในครอบครัว มีครูที่ไม่ใช้อคติต่อลูกศิษย์หรือเลือกปฏิบัติ แต่พร้อมที่จะอุทิศตนให้กับลูกศิษย์ทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่มีโอกาสน้อยกว่า มีนายจ้างที่ดูแลเอาใจใส่ลูกจ้างและให้ค่าแรงอย่างเป็นธรรม มีนักวิชาชีพ เช่น แพทย์ที่มีความเมตตาและมนุษยธรรมในการรักษาผู้เจ็บป่วย มีนักบัญชีที่โปร่งใส ยึดความถูกต้องและเป็นธรรม มีวิศวกรที่ไม่แสร้งคำนวณผิด มีตำรวจที่ไม่มองผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนเลว มีบุคลากรของพระศาสนจักรที่กล้าดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย รักความเป็นธรรมและอยู่เคียงข้างผู้ด้อยโอกาส มีพวกเราทุกคนที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และยินดีช่วยเหลือทุกคนโดยไม่ลังเลใจ ฯลฯ

5.  ข้อเสนอเพื่อการพัฒนาการศึกษาเพื่อความยุติธรรม
5.1  กรอบความคิด เรามุ่งหวังให้ผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมายที่จะปฏิบัติความยุติธรรมในสังคมดังนี้
5.1.1  ผู้เรียนมีความตื่นตัวถึงประเด็นปัญหาอยุติธรรมที่เกิดขึ้น (การรับรู้–การสร้างความตระหนัก)
5.1.2  ผู้เรียนมีความสนใจ ห่วงใย และเห็นอกเห็นใจผู้ที่ประสบความอยุติธรรมมากขึ้น (อารมณ์ ความรู้สึก)
5.1.3  ผู้เรียนมีความมุ่งมั่นที่จะกระทำกิจการใดๆ เพื่อแก้ไขความอยุติธรรม (พฤติกรรม)

5.2  
แนวทางที่เป็นไปได้ คือ
5.2.1  สนับสนุนเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยจัดให้มีกระบวนการเปลี่ยนจากตนเองสู่ผู้อื่น ดำรงชีวิตในความสัมพันธ์ที่ถูกต้องอย่างมีดุลยภาพกับผู้อื่น กับธรรมชาติ / สิ่งแวดล้อม และเป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า / สิ่งสูงสุดที่ผู้เรียนนับถือ
5.2.2  ส่งเสริมการศึกษาด้านสังคม โดยอาศัยการศึกษาข้อมูล ข่าวสาร ทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง ศาสนา วัฒนธรรม ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิต และคุณค่าความเป็นมนุษย์
5.2.3  จัดให้มีกระบวนการให้การศึกษาอบรมเพื่อปลุกจิตสำนึก และสร้างมโนธรรมที่ถูกต้องทางสังคม เช่น กระบวนการศึกษาความจริงและร่วมชีวิต (Exposure Immersion) สนับสนุนให้ผู้เรียนเข้าร่วมชมรม วาย ซี เอส ฯลฯ
5.2.4  สร้างชุมชนปฏิบัติความยุติธรรม โดยเริ่มจากในห้องเรียน สถานศึกษา / โรงเรียน และในสังคม
5.2.5  เป็นตัวแทนในระดับนโยบาย ด้วยการทำหน้าที่ เป็นปากเป็นเสียง แทนผู้ที่ไม่สามารถสะท้อนปัญหาของตนเองออกมาได้
5.3  เนื้อหาของคำสอนด้านสังคม ในการทำงานส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม
ภาพจาก www.momsbreak.com5.3.1  ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
5.3.2  ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต
5.3.3  ความเป็นครอบครัวและชุมชน
5.3.4  ความดีส่วนรวม หรือคุณประโยชน์ของทุกคน
5.3.5  สิทธิมนุษยชน / สันติภาพ
5.3.6  การอยู่เคียงข้างกับคนจน / ผู้ด้อยโอกาส
5.3.7  คนงานและสิทธิของคนงาน
5.3.8  ความร่วมมือช่วยเหลือกัน / ความเป็นปึกแผ่น
5.3.9  การเคารพในสิ่งสร้าง – ธรรมชาติ / สิ่งแวดล้อม
5.3.10  หัวใจของผู้สร้างสันติ  

เอกสารอ้างอิง  1. พระคัมภีร์
                      2. คำสอนด้านสังคมของพระศาสนจักร
                          2.1  พระศาสนจักรในโลกสมัยนี้ (ศลน) / Gaudium et Spes (GS)
                          2.2  ความยุติธรรมในโลก (ยล) / Justice in the World (JW)
                          2.3  การเฉลิมฉลองปีที่หนึ่งร้อย (ฉปร) /  Centesimus Annus (CA)
                          2.4  สารวันสันติสากลประจำปี (สส) / Message on Day of Peace (MDP)
                     3. สอนด้านสังคมของพระศาสนจักร ภาคอ้างอิง โดย คุณพ่อสีลม ไชยเผือก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น